12 ก.พ. เวลา 03:16

ปั้นแป้งแก้คุณไสย ในชุมชนชาวจีน ตอน 3 จัดการ/อั่งเปา

สำหรับ “ของ” ที่นำออกมาจากตัวเตี่ย ซิงแซได้ห่อเก็บไว้อย่างเรียบร้อยเพื่อนำกลับไป “จัดการ”
“ให้คนเอาไปทิ้งเหรอ” หมวยถาม พลางนึกภาพคนถือห่อผ้า..ไปหาที่ทิ้งไว้ตามชายป่า หรือที่เปลี่ยวๆ ร้างๆ ทิ้งเสร็จก็คงต้องวิ่งจู๊ด..ด.ด ห้ามหันกลับไปดู..ถึงไม่ห้ามก็คงไม่กล้าหันกลับไปหรอก..กึ๋ย..
“ไม่ใช่...ไม่ได้..ไม่ได้ ซิงแซไม่ให้ไปทิ้งซี้ซั้ว เดี๋ยวมีคนไปโดนอีก” อาม่าสั่นหัวกับความคิดหมวย
อาม่าบอกว่า ไม่ว่าจะเป็น “ของ” ที่มีคุณไสยหรือวิญญาณ ซิงแซก็จะจัดการด้วยวิธีเดียวกัน คือ
นำกลับไปบ้านซิงแซเพื่อรอทำพิธีบรรจุใต้ฐานพระพุทธรูป โดยซิงแซระบุขนาดที่เห็นว่าเหมาะสม แจ้งให้ทางญาติ ๆ ผู้ป่วยจัดหามาให้
จากนั้น ตามธรรมเนียมจีน ก่อนส่งซิงแซกลับบ้าน พวกผู้ใหญ่ได้เตรียม “อั่งเปา” คือ ซองสีแดงใส่เงินจำนวนหนึ่ง
* คนไทยส่วนใหญ่รู้จัก "อั่งเปา" ในลักษณะซองสีแดงที่ผู้ใหญ่ใส่เงินเอาไว้แจกเด็กๆในเทศกาลตรุษจีน
แต่จริงๆแล้วมีธรรมเนียมมอบอั่งเปาเพื่อเป็นการขอบคุณ
ตัวอย่างในการจัดงานศพ เจ้าภาพก็เตรียมอั่งเปาเอาไว้ให้กับคนที่มาช่วยงาน  ซึ่งอาจจะมาช่วยด้วยใจ เช่น ญาติๆที่มาช่วยดูแลแขก หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ของวัด
จากประสบการณ์จัดงานศพ ร้านโลงแจ้งล่วงหน้า เช่น ให้เตรียมอั่งเปา 4 ซองสำหรับคนยกโลง 1 ซองสำหรับเจ้าหน้าที่นำพิธี ยังมีอั่งเปาให้ไรเดอร์ที่มาส่งพวงหรีดด้วย
กลับมาที่เรื่องของอาม่า เมื่อญาติๆ มอบอั่งเปาให้ซิงแซเพื่อแสดงความขอบคุณ  ซิงแซรับแล้วหยิบเงินออกมาคืนให้ เก็บไว้แต่ซองแดงเท่านั้น
ตลอดเวลาที่ทำพิธี แม่ของอาม่ายังคงขายของอยู่ที่แผงในตลาด อาม่าบอกว่าจริง ๆ แล้วก็คงแอบ “งอน” ด้วยแหละ ที่ลูก ๆ ไม่เชื่อฟัง
แต่เมื่อกลับมาเห็นกับตาว่าเตี่ยหายเจ็บปวดจริง และฟังเรื่องราวจากญาติๆ กับเพื่อนบ้านแล้ว ก็ดูโล่งใจและพลอยนับถือซิงแซไปด้วย
ตอนต่อไป เปรียบเทียบความต่าง ไทย-จีน เกี่ยวกับสิ่งของบางอย่างที่ใช้ในพิธี
กดหัวใจ และกดติดตามได้เลยขอบคุณค่ะ
โฆษณา