24 พ.ค. 2020 เวลา 22:55 • ไลฟ์สไตล์
หลักการเป็นหัวหน้า 5 ให้!
"ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้โอกาส ให้อภัย"
วันนี้ขอมาเล่าประสบการณ์คำสอนที่ได้นำมาปรับใช้จริงในการเป็นหัวหน้างาน โดยเรียกสั้นๆ ว่า 5 ให้!
(ขอเล่าแบบไม่เป็นวิชาการมากนะครับเป็นแนวใช้ปฏิบัติจริง) เริ่มจาก
1. ให้ความรู้ ด้วยความติสท์ส่วนตัว ในการให้ความรู้ผมจะสนับสนุนน้องให้หาความรู้เพิ่มเติมผ่านช่องทางการเรียนรู้ต่างๆ (ทั้งในเวลางาน และนอกเวลางาน) หรือผมสอนเอง (และปัจจุบันผมก็ไม่ได้บังคับว่าจะสนใจทั้งหมดที่สอนหรือไม่ เพราะบางความรู้มันเป็นองค์ประกอบที่.....ถ้าคนไม่เคยทำงานตอนแรกจะงงว่าสอนทำไม??? แต่พอวันนึงได้ทำงานจริงเริ่มมีประสบการณ์ สิ่งที่ได้เคยสอน (เวิ้นเว้อ..) บางโอกาสสามารถนำมาใช้งานได้จริง แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องเพราะแต่ละคนเองต่างสไตล์เรียนรู้ บางเรื่องเก่าไปแล้ว บางเรื่องมีวิธีใหม่ที่ดีกว่า) ในส่วนแรกผมจะมีบทความรายละเอียดว่าลิสต์ที่ใช้สอนมีอะไรบ้าง (ถ้าอันไหนมีใครสนใจจะนำมาเขียนเพิ่มแยก) <<< คือทุกคนแรกเริ่มทำงานไม่สามารถ Full Coach ได้ ดังนั้นบางเวลาก็ต้องใช้การสอนงานอยู่
2. ให้คำแนะนำ ผมว่าถ้าใครเป็นหัวหน้าและพึ่งเคยบริหารจัดการจะรู้เลยว่า บางทีผลจากการมอบหมายงาน เราจะได้เฉพาะตามที่ร้องขอเท่านั้น แต่เราจะไม่ได้สิ่งที่มากกว่าการร้องขอหรืออะไรที่เหนือความหวังไว้ (Wow Moments) เช่น เราให้น้องทำข้อมูลชุดหนึ่งส่งมา พอเราได้รับ เราก็อาจถามน้องว่า ทำข้อมูลออกแล้วมีประเด็นน่าสนใจ? หรือถ้าให้ดีหน่อย หัวหน้ามอบหมายให้น้องไปวิเคราะห์ น้องก็จะวิเคราะห์มาเฉพาะประเด็นที่เราสนใจ แต่พอเราได้รับข้อมูลมา ก็จะมีประเด็น เอ๊ะ สงสัย ขึ้นมา ซึ่งพอสอบถามก็จะได้รับคำตอบว่าจะกลับไปทำเพิ่มมาให้พิจารณาใหม่ ผมว่าหัวหน้าส่วนใหญ่จะพบประสบการณ์ประมาณนี้ที่ให้ทำอะไรจะได้เท่ากับที่ให้ทำ (น้องไม่ได้ผิด...ที่ผิดคือหัวหน้าไม่ได้เริ่มการสอนพื้นฐานบางเรื่องที่น้องไม่มี...หรือแนะนำได้ถูกจุดหรือยัง) สิ่งที่ผมจะเพิ่มเติมให้น้องคือคำแนะนำ โดยเน้นให้คิดต่อยอดมากกว่าสิ่งที่ได้รับมอบหมาย ประมาณว่าเมื่อส่งมอบงานจะโดนคำถามอะไรบ้าง? และถ้ารู้ว่าจะโดนถามอะไรควรเตรียมอะไรเพิ่มเติม เป็นต้น
3. ให้โอกาส ผมจะเน้นให้ทีมงานได้รับโอกาสทั้งในการเข้าถึงความรู้ และโอกาสในการทำงานที่ท้าทาย โดยแต่ละวันผมว่างาน HR ที่ดีควรได้ลุกออกจากโต๊ะ เพื่อไปเจอคนอื่นนอกงานตัวเอง ทั้งภายในหน่วยงานและนอกหน่วยงาน เพื่อจะได้มีโอกาสทำงานข้ามสายงาน ข้ามกลุ่มงาน โดยส่วนตัวผมเองมองว่าการทำงานด้านคนก็ต้องเข้าถึงคน ถ้านั่งโต๊ะทำงาน HR เองก็จะถูกมองเป็นแค่เพียง "รับคนเข้า เอาคนออก ตรวจบัตรตอก ออกใบเตือน...." และอยู่บนยอดหอคอย ออกแต่นโยบายใหม่ๆ แต่ไม่เคยเข้าถึงคนทำงาน รู้บริบทคนหน้างาน รวมถึงการให้โอกาสในการทดลองทำตามไอเดีย หรือข้อเสนอแนะต่างๆ ที่อยากทดลองทำ
4. ให้กำลังใจ มุมผมการให้กำลังใจส่วนหนึ่ง เป็นผลสืบเนื่องจากการให้โอกาส ผมจะสายดาร์กประมาณนึง บางเรื่องที่น้องเสนอแล้วอยากทำมากๆ แต่ผมด้วยประสบการณ์และความเชื่อก็รู้ว่าทำแค่นี้ไม่น่ารอด Q(--____--")Q แต่ก็เห็นแววตามั่นใจว่าทำได้และอยากลอง (แววตาพระเอกการ์ตูนอนิเมะ!) ก็ให้ทำครับ (เพราะรู้ว่าถึงพลาดมาก็ไม่ได้ใหญ่โตมาก และผมผู้เป็นหัวหน้าสามารถเข้าไปรับความผิดได้ น้องจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดจากประสบการณ์จริง) เพราะหัวหน้าต้องรับได้ทั้ง"รับผิด" และ "รับชอบ" คำนี้อาจถูกใจคนทำงานหลายคนเพราะเจอแต่หัวหน้าที่ "รับชอบ" (พอดีเรื่องรับผิด หรือโดนว่า ก็เป็นงานถนัดของผมอยู่แล้ว...หน้า "ชา" มาเยอะละ) ข้อดีคือน้องเขาจะได้เรียนรู้การทำงานในโลกความจริง และส่วนเราเองก็สามารถให้กำลังใจและ สร้างความเชื่อใจว่าน้องถ้ามีโอกาสได้ลองทำออกมาใหม่ จะดียิ่งกว่าเดิม (แต่ในบางงานใหญ่ ก็ถ้ารู้ว่าเสนอไปแล้วไม่รอด (เข้าขั้นเละ!!) ก็ไม่ให้ลองนะครับ เพราะไม่เกิดประโยชน์เป็นปมติดในใจเปล่าๆ เดี้ยวแก้ยาก ดราม่าท้อชีวิตไม่เคยผิดพลาดจะมาเต็ม)
5. ให้อภัย ง่ายมากๆ เป็นหัวหน้า เป็นคนลงนามลายเซ็นต์สุดท้าย ถ้ามีปัญหาอะไรที่เกิดจากน้องๆ หัวหน้ารับก่อนเอง และให้อภัยน้องๆ ครับ จบ.. (เพียงแต่ว่าสำหรับผมถ้าผิดซ้ำเรื่องเดิม แล้วผมจะไม่ติสท์แตก ถ้าไม่เกิน 3 ครั้ง แต่ถ้าสมัยก่อนต้องให้อภัยเรื่องเดิม 4-5 ครั้ง ก็มีฟาดงวง ฟาดงาเหมือนกันครับ ปุถุชนคนธรรมมีหลุดบ้างแต่ให้เกิดน้อยที่สุด)
ก็เป็น 1 รูปแบบที่ผมใช้จริง เพราะจริงๆ คำว่า "ให้ความรู้ ให้โอกาส ให้คำแนะนำ ให้กำลังใจ ให้อภัย" มันมีความหมายในตัวของมันอยู่แล้ว ผมขอมาเล่าในมุมที่ผมประยุกต์ใช้ ซึ่งทุกท่านที่เป็นผู้บริหารหรือยังไม่มีได้เป็นผู้บริหาร (แต่มีภาวะผู้นำ) ก็สามารถนำคำเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันในเรื่องอื่นๆ ได้ครับ
อ้างอิง เมื่อต้องสอนงานเด็กใหม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา