18 ก.ค. 2020 เวลา 22:55 • ไลฟ์สไตล์
ถ้าอยากฝึกคิดเป็นภาพ
มีกรอบการฝึกอย่างไร
ผมว่าท่านผู้อ่านอาจเคยได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังว่าคนเราสามารถคิดในเรื่องต่างๆ ได้เป็นภาพ ใครทำได้แล้วข้ามไปเลยนะครับ เพราะบทความนี้จะไม่ตอบโจทย์ ที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัวผมตรงๆ ที่ผ่านการเรียนรู้ ลองผิดลองถูกเอง
ก่อนจะเริ่มขอถามด้วยคำถามว่า
คุณจำความฝันคุณได้ไหม และความฝันคุณมีสีไหม
ถ้ายังตอบตรงนี้ไม่ได้ หรือยังฝันเป็นภาพขาวดำ ผมแนะนำว่าลองใช้เวลาซักเดือนไปลองฝึกเรื่องนี้ก่อนครับ ส่วนวิธีสอนมีมากมายตาม WEB เช่นเดิม ลองค้นผ่านคำว่า "วิธีบังคับฝัน" (หรือถ้าอยากลองฝึกคู่ขนานก็ได้เช่นกัน อ่านต่อได้เลย)
ถ้าสามารถตอบได้ว่า ก็มีบางวันที่จำฝันได้นะว่าความฝันเป็นภาพสีแต่ยังบังคับฝันไม่ได้ ก็เข้ากระบวนการฝึกเพิ่มการคิดเป็นภาพต่อในชีวิตจริงได้เลยครับ แนวทางที่ผมใช้ฝึกและทำให้สามารถดึงภาพมาใช้ในชีวิตประจำวัน แยกเป็น 2 วิธีหลักๆ คือ
1. ช่วงก่อนนอนก่อนจะหลับเป็นช่วงที่ทำได้ง่ายที่สุดและสำเร็จง่ายที่สุดครับ (เกือบ80%) วิธีผมคือนอนใต้แอร์ให้แอร์ตกใส่หัว (แต่ตัวห่มผ้า) และไม่มีมือถืออยู่ติดตัว ปิดไฟ หลับตา นอนหงายผ่อนคลายร่างกายที่สุด ยิ่งช่วงดึกแบบง่วงที่สุดแล้วทำจะมีโอกาสสำเร็จสูงมาก ความแปลกจะเป็นพออยู่ในสภาพดังกล่าว ความง่วงสุดๆ ตอนแรก จะหายไปทันที สมาธิจะคมขึ้น เกิดการรู้เนื้อรู้ตัวและอยู่กับตัวเอง
คมขึ้นจนเราได้ยินเสียงคุยกับตัวเองชัดขึ้น ชัดขึ้นมากๆ โดยไม่ใช่แค่เสียง แต่จะเริ่มมีภาพลอยเข้ามาประกอบในหัว จุดนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่ว่าถ้าเราตกใจหรือตื่นเต้นว่าเราเห็นภาพสีพร้อมเสียงวิ่งเข้ามาในหัว มันจะหายไปทันที (แล้ววันนั้นก็จะไม่สำเร็จต้องลองวันใหม่ได้เลย)
1
การฝึกคือการอยู่ในสภาพตรงนี้ให้ได้นานที่สุด (จริงๆ อาจมีคำอธิบายอื่นๆ ทางวิทยาศาสตร์ หรือ ไสยศาสตร์ หรืออะไรมากมาย แต่ผมว่าคือการเข้าสู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นครับ<<<ร่างกายเข้าสู่โหมดผ่อนคลายแต่สติยังตื่นอยู่) สำหรับผมเป็นช่วงเวลาที่เรื่องต่างๆ ที่ฟุ้งขึ้นมาเป็นภาพนี้กลับช่วยให้ผมแก้ไขโจทย์ หรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ค้างคาได้ด้วย ช่วงเวลาสมาธิที่ทำได้แบบนี้จะคงอยู่ไม่นานครับ เพราะถ้าไม่เผลอหลับลึกไป ก็กลายเป็นไม่ง่วงตื่นขึ้นมาแทน
2. การดูหนัง ดูซีรีย์ เป็นวิธีที่ง่ายมากๆ คือเวลาดูหนังให้ใช้การสังเกตรายละเอียดในหนังให้มากที่สุด (ถ้าสายตาอยู่กับการอ่าน Subtitle จะไม่สามารถสำเร็จได้) สังเกตและซึมซับไม่ใช่แค่อารมณ์สีหน้า การแต่งตัวของผู้แสดง แต่รวมถึงองค์ประกอบของฉาก รายละเอียดต่างๆ ของฉาก ยิ่งสังเกตและซึมซับได้มากเท่าไหร่ เวลาไปคุยเรื่องอื่นๆ บางทีตัวคำ หรือ บริบทคำ จะทำให้ภาพในหัวจากที่ดูในหนังลอยขึ้นมา ลอยขึ้นมาแม้จะเปิดตา
ถ้าถามว่าฝึกแล้วได้อะไร สำหรับผมนะครับ
1. มันสนุกดีที่ตัวเราสามารถเปิดโหมดให้คิดเป็นภาพลอยขึ้นมาได้ (แต่ไม่ได้ใช้ตลอดนานๆ ใช้ที ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงเวลาการสื่อสาร เพราะเราเห็นเป็นภาพเวลาอธิบายอะไรจะมีทั้งอารมณ์ และความรู้สึกส่งไปถึงผู้รับให้มีประสบการณ์ร่วมได้มากขึ้น เพราะจริงๆ เรากำลังเล่าผ่านภาพที่กำลังเห็น ไม่ใช่การอธิบายไปตามบท) และช่วยให้เราทำความเข้าใจคนที่เรากำลังคุยด้วยได้มากขึ้น เพราะเหมือนเราจะได้เห็นภาพจากบริบทพูดของเขาออกมาเช่นกัน
1
2. มันช่วยให้การคุยกับตัวเองสนุกขึ้น และยังทำให้การแก้ไขปัญหาในบางเรื่องแก้ไขได้ง่ายขึ้น เพราะทำให้ดึงองค์ประกอบต่างๆ ผ่านภาพ เลยทำให้เห็นจุดที่แก้ไข หรือโอกาสพัฒนามากกว่าเห็นแต่ตัวอักษรยาวเป็นหน้ากระดาษ เป็นปึกๆ
2
หากมีโอกาสลองทดลองดูครับ หรือมีสไตล์ที่แตกต่าง ร่วมแบ่งปันกันได้ครับ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา