28 ก.ย. 2021 เวลา 08:10 • ประวัติศาสตร์
มารู้จัก "ขนมไหว้พระจันทร์" ขนมมงคลที่มีเรื่องราวมากกว่าแค่ "ขนม"
ถึงแม้ว่าเทศกาลไหว้พระจันทร์จะเพิ่งผ่านมาได้เกือบสัปดาห์แล้ว
แต่ว่าในสัปดาห์นี้ พวกเรายังคงได้ของฝากจากญาติและคนรอบตัวที่รู้จัก นำ "ขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncake “月饼 ”)" มามอบให้กันอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นอารมณ์ควันหลง :)
ขนมไหว้พระจันทร์ (Mooncake “月饼 ”) คือ ขนมเค้กทรงกลมรูปทรงคล้ายพระจันทร์เต็มดวง บนหน้าของขนมเค้กชิ้นนี้ก็จะมีการปั๊มลวดลายสวยงาม ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสิริมงคล
โดยขนมไหว้พระจันทร์ก็จะถูกใช้ในงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ (ตรงตามชื่อเลย)
ที่จะเกิดขึ้นในฤดูใบไม้ร่วง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ของทุก ๆ ปี
ซึ่งเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปีนี้ ก็จะตรงกับวันอังคารที่ 21 กันยายน
เรื่องราวของขนมไหว้พระจันทร์เป็นอย่างไร ?
ทำไมจึงเป็นขนมที่มากกว่าแค่ขนม ?
วันนี้ให้พวกเรา InfoStory พาเพื่อน ๆ ไปส่องกับภาพอินโฟกราฟิกสุดสบายตากันได้เลย !
หากจะพูดถึงเทศกาลที่ชาวจีน หรือ คนที่มีเชื้อสายจีนให้ความสำคัญและมีการเฉลิมฉลองรองมาจากเทศกาลตรุษจีนเนี่ย
ก็คงต้องพูดถึง “เทศกาลไหว้พระจันทร์”
เทศกาลไหว้พระจันทร์ (Mid-Autumn Festival) เป็นประเพณีเซ่นสรวงและเฉลิมฉลองหลังจากเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร ประจำฤดูสารทของจีนโบราณ หรือ เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นพิธีการขอบคุณพระเจ้าแบบจีน
โดยจะมีการนำผลผลิตทางการเกษตร ธัญพืชต่าง ๆ และขนมไหว้พระจันทร์มาใช้ประกอบในพิธีการ ซึ่งก็จะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ตามปฎิทินจีน) ของทุก ๆ ปี
โดยในช่วงกลางวันของวันนี้ คนจีนจะนิยมเอาผลผลิตแรกที่ได้มา ไปบูชาบรรพชนก่อน
จากนั้นพอตกเวลากลางคืน ที่สามารถเห็นพระจันทร์เต็มดวง ค่อยทำพิธีไหว้พระจันทร์และทำการเฉลิมฉลองกันต่อ
เอ้ะ ! … ว่าแต่คนจีนเขาจะไหว้พระจันทร์กันไปทำไมนะ ?
ทำไมถึงไม่ไหว้เทพเจ้าไปอย่างเดียวละ ?
- ประการแรก คือ พระจันทร์เต็มดวงถือว่าเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความสิริมงคลของชาวจีน
โดยชาวจีนความเชื่อว่าทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลง ทำให้ผลผลิตงอกงาม
(ซึ่งนอกจากจะขอบคุณพระจันทร์แล้ว ก็จะขอบคุณเทพเจ้าแห่งผืนดินและเทพประจำเมืองอีกด้วยนะ)
- ประการที่สอง คือ เรื่องราวของการสืบทอดประเพณีที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยในสมัยก่อนกษัตริย์ชาวจีนจะทำการบูชาพระอาทิตย์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ และบูชาพระจันทร์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
ทั้งหมดก็เพื่อส่งคำปรารถนาและขอบคุณต่เทพเจ้า ที่ทำให้ชาวจีนมีความมั่งคั่งทั้งผลผลิตและสุขภาพ
- ประการที่สาม ก็จะเป็นความหมายเชิงนัยสำคัญ ที่นอกจากการเซ่นไหว้เพื่อขอบคุณพระเจ้า
ก็คือ ชาวจีนมีความเชื่อว่าพระจันทร์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความกลมเกลียว
โดยการที่ชาวจีนยังคงมีการสืบทอดพิธีไหว้พระจันทร์แบบนี้ ก็จะทำให้ครอบครัวทุกคนจะได้กลับบ้านมาเจอกันพร้อมหน้าพร้อมตา นั่งทานขนมกัน อย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาร่วมกัน 2-3 วันเลยละนะ
ด้วยความเหนียวแน่นและรากฐานที่แข็งแรงของวัฒนธรรมในเทศกาลไหว้พระจันทร์ ก็ยังเปรียบเสมือนกับหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองแบบคนเชื้อสายจีนไปทั่วโลก (ที่นอกเหนือจากเทศกาลตรุษจีน)
อีกทั้งตัวขนมไหว้พระจันทร์แบบที่เรารู้จัก ก็เป็นตำรับของทางกว่างตงที่ได้รับอิทธิพลจากขนมเค้กของยุโรป แต่เดิมเป็นที่นิยมแค่ในมณฑลกว่างตง ฮ่องกง และมาเก๊า
แต่ก็เริ่มเป็นที่นิยมในประเทศอื่น ๆ ที่คนเชื้อสายจีน เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เวียดนาม ไทย ที่จะมีการเฉลิมฉลองด้วยโคมไฟสีแดง เป็นสีสันยามค่ำคืน ตามท้องถนน
ภาพตัวอย่างเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่เวียดนาม
ภาพตัวอย่างเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่สิงคโปร์ (ปี2018)
นอกจากเรื่องราวด้านบนแล้ว
เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า เทศกาลไหว้พระจันทร์ ก็มีความเป็นมา ที่มากกว่าแค่การขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ผลผลิตงอกงามอีกด้วยนะ !!
คือ ตามตำนานของชาวจีน เขาเล่าไว้เอาไว้ด้วยกันถึง 2 แบบเลยละ…
1. ตามตำนานนิยายปรัมปรา “โฮ่วอี้ยิงดวงอาทิตย์และฉางเอ๋อ”
ตามตำนานเทพปกรณัมของชาวจีน บันทึกไว้ว่า
เมื่อสมัยโบราณโลกของเราเนี่ย มีพระอาทิตย์อยู่มากถึง 10 ดวง !!
จนทำให้โลกร้อนจนเป็นเพลิง สิ่งมีชีวิตจะอยู่อาศัยและระบบนิเวศจบนโลกจะเกิดขึ้นไม่ได้
แต่แล้วก็ได้นักแม่นธนูนามว่า “โฮ่วอี้” พระเอกของเรื่อง ได้ยิงพระอาทิตย์ตกไปมา 9 ดวงด้วยธนูดอกเดียว !
จนทำให้โลกของเราเหลือพระอาทิตย์ดวงเดียว ที่ทำให้ทุกชีวิตนั้นมีความสมดุลและสมบูรณ์จนมาถึงทุกวันนี้
ทีนี้ด้วยฝีมือและประวัติการช่วยโลกของโฮ่วอี้ มันก็โด่งดังไปไกลมาก จนกระทั่งเขาได้กลายเป็นพระราชา
จนกระทั่งวันหนึ่ง ราชาโฮ่วอี้ บังเอิญได้รับยาอายุวัฒนะมา ซึ่งก็ได้ฝากเอาไว้กับ “ฉางเอ๋อ” สตรีรูปงามผู้ซึงเป็นพระชายาของโฮ่วอี้
และแล้วตัวร้ายของเรื่องก็ได้ปรากฎตัวขึ้น เขามีนามว่า “เฝิงเหมิง”
เฝิงเหมิง เนี่ยต้องการจะเป็นอมตะ ด้วยยาอายุวัฒนะของราชาโฮ่วอี้
เขาจึงได้บุกเข้ามาจะขโมยไปจากฉางเอ๋อ
แต่ฉางเอ๋อรู้ตัวทัน เธอจึงได้ทานยาเม็ดนั้นเข้าไป เพื่อปกป้องจากความชั่วร้ายของเฝิงเหมิง
หลังจากนั้น ฉางเอ๋อ ก็เลยได้ลอยขึ้นสวรรค์ไปเลยจ้า ว่ากันว่าฉางเอ๋อได้ไปเกิดใหม่สถิตเป็นดวงจันทร์
ฉางเอ๋อขอตัวไปก่อนละน้าาา
และด้วยวันที่ฉางเอ๋อ ต้องจบชีวิตบนโลก มันก็ดันเป็นวันเพ็ญเดือนแปด ที่จันทร์งามกระจ่าง พอดี
ด้วยความอาลัยและคิดถึง ราชาโฮ่วอี้จึงจัดเครื่องเซ่นบูชาพระจันทร์รำลึกถึงฉางเอ๋อ นั่นเอง
แต่บางตำนานในเรื่องราวของ “โฮ่วอี้และฉางเอ๋อ” เนี่ย เขาก็เขียนไว้อีกแบบนะ
คืองี้ ตอนจบอีกแบบ มันก็เริ่มจากกิเลสที่เป็นความโลภ
ภายหลังจากที่ราชาโฮ่วอี้ ได้ยาอายุวัฒนะมา ก็เลยกลายเป็นคนชั่วร้าย เบียดเบียนข่มเหงประชาชน
(เรื่องนี้ไม่มีตัวร้ายอย่าง เฝิงเหมิง ละนะ)
พระชายาอย่าง “ฉางเอ๋อ” จึงได้ตัดสินใจจบเรื่องราวอันแสนชั่วร้ายและช่วยให้ชาวบ้าน หลุดพ้นจากความเดือดร้อนที่ราชาโฮ่วอี้ ได้กระทำไว้
เธอจึงสละชีวิตทานยาเม็ดนี้เสียเอง แล้วลอยไปอยู่บนดวงจันทร์ ผู้คนชาวจีนจึงได้รำลึกถึงความดีงามของเธอด้วยการไหว้พระจันทร์กลางเดือนแปด นั่นเอง
(แอบนึกถึงทฤษฎี Multiverse ของจักรวาล Marvel เลย)
โอเค มาถึงอีกเรื่องราวตำนานการกำเนิดแบบที่ 2 ของเทศกาลไหว้พระจันทร์
เรื่องราวนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักแบบในเรื่องแรก
2. เรื่องนี้ มีชื่อว่า “การปฏิวัติของจูหยวนจาง”
เรื่องเริ่มต้นในสมัยราชวงศ์หยวน ที่ถูกชาวมองโกลเข้ามายึดแผ่นดินและปกครองชาวฮั่น
แน่นอนว่า โดนรุกรานแบบนี้ นาน ๆ ไป ก็ต้องเริ่มมีผู้ต่อต้าน ทวงความยุติธรรมให้กลับคืนมาสู่ชาวฮั่น
โดยบุคคลที่เป็นผู้นำการปฏิวัติมองโกลในครั้งนี้ มีชื่อว่า “จูหยวนจาง”
เขาได้ออกอุบายล้มล้างราชวงศ์มองโกล ด้วยการใช้โอกาสในงานเทศกาลไหว้พระจันทร์ของชาวจีน
ซึ่งจะต้องใช้ขนมไหว้พระจันทร์ในการเฉลิมฉลอง
นายจูหยวนจาง ได้ทำการซ่อนจดหมายลับเอาไว้ใส้ของขนมเค้กไหว้พระจันทร์
ก้อนหนึ่ง โดยใจความจะเป็นการสื่อสารไปยังชาวจีนอย่างลับ ๆ ว่าให้เตรียมการปฏิวัติ
เป็นภาพที่ไปค้นหาจากใน Reddit ตัวเนื้อภาพอาจไม่เกี่ยวข้อง แต่ว่าสื่ออารมณ์จดหมายที่ซ่อนในขนมได้ดีมาก จึงทำมาให้ชมเพิ่มอรรถรส
พอถึงเวลาที่นัดหมาย จูหยวนจางและชาวฮั่นก็ได้ลุกฮือ ทำการปฏิวัติราชวงศ์มองโกล ซึ่งก็เป็นผลสำเร็จ และทำให้เขาสามารถกู้เอกราชคืนมาสู่ชาวจีนได้
และวันนั้นก็ตรงกับวันเพ็ญเดือนแปด ที่มีพระจันทร์เต็มดวงสว่างไสวพอดี
ชาวจีนในยุคต่อ ๆ มา จึงมีการเซ่นไหว้เฉลิมฉลอง เพื่อระลึกถึงวีรชนที่ช่วยกู้ชาติในครั้งนั้น นั่นเองจ้า
ก็จบกันไปแล้วแล้วกับ 2 ตำนานที่เล่าขานกันมา...
ทีนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นส่วนสำคัญที่อยู่ในตำนานต้นกำเนิดของพิธีไหว้พระจันทร์ทั้ง 2 เรื่อง
แต่...อันที่จริงแล้ว เพื่อน ๆ ทราบไหมว่า ขนมไหว้พระจันทร์ มันมีต้นกำเนิดความเป็นมา ที่ยาวนานไปก่อนที่พิธีไหว้พระจันทร์จะเกิดขึ้นเสียอีกนะ
เล่าสั้น ๆ ก็คือ
ย้อนกลับไปราว ๆ 3,000 ปีก่อน ในสมัยราชวงศ์ชาง (Shang dynasty)
ที่มีการนิยมทานเค้กสอดใส้ก้อนกลม ที่มีชื่อว่า “Taishi” ซึ่งว่ากันว่าเป็นเรื่องราวการกำเนิดขนมเค้กก้อนแรกที่มีเปลือกแข็งแต่ใส้ข้างในกลับนิ่ม ของชาวจีนโบราณอีกด้วย
(และเชื่อกันว่า ขนมเค้ก Taishi เป็นต้นแบบของขนมไหว้พระจันทร์ที่ถูกสืบทอดต่อกันมา)
ในอีก 2,000 ปีต่อมา ในช่วงแรกเริ่มของราชวงส์ฮั่น
เค้ก Taishi ก็ได้เปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมและพืชผล จนพัฒนากลายมาเป็นเค้กวอลนัท หรือที่เรียกกันว่า “Hu cake”
จนกระทั่งในช่วงของราชวงส์ถัง (ปี ค.ศ. 618) จักรพรรดิถังไท่จง (หรือหลี่ซื่อหมิ่น) ก็ได้รู้จักกับเค้กก้อนกลมจากชาวทิเบต ซึ่งว่ากันว่าเค้กก้อนนั้นคือ เค้กวอลนัท “Hu cake”
เนื่องจากเค้กก้อนนี้ มีลักษณะที่เหมือนกับพระจันทร์เต็มดวง
เขาจึงได้นำมาใช้สำหรับประเพณีไหว้พระจันทร์ นั่นเอง
แต่ว่าเรื่องราวของการเรียกชื่อว่า “Mooncake” หรือ ขนมไหว้พระจันทร์ กลับถูกบันทึกไว้ในช่วงของราชวงส์หยวน ในปี ค.ศ. 1271 ที่ว่ากันว่าเป็นปีที่ชาวจีนมีการเฉลิมฉลองในพิธีไหว้พระจันทร์กันแบบจริงจัง
ก็พอหอมปากหอมคอ เป็นเรื่องราวของตำนานซะเยอะเลยเนอะ
หาอ่านไปอ่านมา ก็เจอเรื่องราวที่หลากหลายมาก
บางตำนาน ก็อาจจะไม่คุ้นหูเพื่อน ๆ ที่เคยได้ยินมาบ้างเนอะ แต่ถ้าจะให้เขียนเล่าทุกตำนาน ก็เกรงว่า...จะเยอะไปหน่อย แห่ะ ๆ
หากเพื่อน ๆ มีเรื่องราวที่น่าสนใจอื่น ๆ หรือต้องการโปรโมตขนมไหว้พระจันทร์ ก็คอมเมนต์กันข้างล่างนี้ได้เลยจ้า
งั้นวันนี้พวกเราต้องขอตัวลากันไปก่อน 🙂
โฆษณา