Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อ่าน เขียน เรียน รู้
•
ติดตาม
15 เม.ย. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ที่มาที่ไปของภาษีความเค็ม
ข่าวการเก็บภาษีความเค็มของภาครัฐ สร้างความรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งแก่หลายฝ่าย ว่านี่รัฐบาลจะขูดรีดเงินภาษีจากทุกทางที่ทำได้เชียวหรือ สำหรับผู้บริโภคนั้น เราจะต้องจ่ายเงินค่าสินค้าหรืออาหารเพิ่มมากขึ้นจากภาษีความเค็มที่เก็บ หรือสำหรับผู้ผลิตโดยเฉพาะอาหารซึ่งน่าจะได้รับผลกระทบโดยตรง จะรับภาระภาษีส่วนนี้มากขึ้น แล้วจะมีกลยุทธ์อย่างไร จะปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น หรือปรับปรุงสูตรอาหารหรือไม่ เหล่านี้เองสร้างความกังวลต่อผลที่ตามมาเป็นอย่างยิ่งต่อหลายฝ่าย
ทำไมต้องเก็บภาษีความเค็ม
ขออนุญาตกล่าวถึงมุมมองทางวิชาการหรือทางการแพทย์ ร่างกายมนุษย์เรานั้นต้องการเกลือจำนวนน้อยมาก ๆ ต่อวัน ในการรักษาสมดุลน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งสมดุลของเซลล์ในร่างกาย ถ้าพูดถึงในอดีตหลายล้านปีที่ผ่านมา แหล่งของเกลือตามธรรมชาติของบรรพบุรุษเรานั้น ได้รับจากเกลือในอาหารตามธรรมชาติ โดยในยุคนั้น บรรพบุรุษเราบริโภคเกลือเพียง 0.5 กรัมต่อวัน ต่อมาภายหลังมีการค้นพบคุณสมบัติการถนอมอาหารของเกลือ ราว ๆ 5000 ปีที่แล้ว เกลือได้ถูกนำมาใช้ และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการบริโภคอย่างแพร่หลาย มีการซื้อขายมากสุดสินค้าหนึ่งของโลก
ปัจจุบัน แม้ว่าจะมีการถนอมอาหารด้วยเทคโนโลยีความเย็นแล้วก็ตาม มนุษย์ยังบริโภคเกลืออยู่ในระดับที่สูง มากกว่าในอดีตอย่างมาก กล่าวคือ วัน ๆ หนึ่งเราบริโภคเกลือมากถึง 10 กรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าบรรพบุรุษเราถึง 20 เท่า ร่างกายมนุษย์ในช่วงล้านปีที่ผ่านมาไม่ได้มีวิวัฒนาการในการปรับตัว ต่อความเค็มในอาหารที่รับประทานที่มากขึ้นขนาดนี้ เป็นที่มาของผลที่ตามมาของเกลือต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ในมนุษย์ที่เราจะกล่าวต่อไป
ว่ากันว่ามีคนราว 3 ล้านคน เสียชีวิตในปี ค.ศ. 2017 จากการบริโภคเกลือหรือความเค็มที่มากจนเกินไป
ปัจจุบัน มีข้อมูลทางระบาดวิทยาและข้อมูลในสัตว์ทดลอง บ่งชี้ชัดว่า การบริโภคเกลือหรืออาหารเค็ม มีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCDs) อย่างมีนัยสำคัญ โรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคอัมพฤกษ์อัมพาต โรคสมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง โรคนิ่วไต โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โรคกระดูกพรุน โรคอ้วน เป็นต้นโดยกลไกสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ การบริโภคเกลือที่มากจนเกินไป ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้หลอดเลือดถูกทำลาย มีการกระตุ้นระบบฮอร์โมนในร่างกายที่ผิดปกติ เกิดภาวะอักเสบในร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ ความผิดปกติของจุลินทรีย์ในลำไส้ ความผิดปกติของเมตาโบลิสซึมของไขมัน และอีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ นำมาซึ่งการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชากรหลายล้านคน
ในทางตรงข้าม การจำกัดการบริโภคเกลือหรือความเค็มนั้น กล่าวคือ รับประทานเกลือน้อยกว่า 3-5 กรัมต่อวัน สามารถลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ข้างต้น ได้ เช่น ลดความดันโลหิตได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและคนทั่วไป สามารถชะลอการเสื่อมของไต ลดการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และที่สำคัญสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของประชากรได้ มีข้อมูลงานวิจัยจากประเทศฟินแลนด์ ในช่วง ค.ศ. 1970 มีการรณรงค์การลดเค็มทุกภาคส่วน การให้ความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมอาหารในการลดความเค็ม และการออกกฎหมายการติดฉลากความเค็ม เหล่านี้ทำให้การบริโภคเกลือจากวันละ 14 กรัมต่อวัน ลดลลงเหลือ 9 กรัมต่อวันในปี ค.ศ. 2002 นำมาซึ่งการลดความดันโลหิตของประชากรถึง 10 มิลลิเมตรปรอทและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 75-80
เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว จะเห็นว่า เกลือ หรือ ความเค็มในอาหารที่มากจนเกินไป คือ ศัตรูตัวฉกาจของสุขภาพของเรา ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานเกลือ ไม่เกิน 5 กรัม ต่อวัน หรือโซเดียมไม่เกิน 2 กรัมต่อวัน (1 กรัมของโซเดียม เท่ากับ 2.5 กรัมของเกลือ; เกลือประกอบด้วยแร่ธาตุโซเดียมและคลอไรด์) ว่ากันง่าย ๆ ของคนทำอาหาร เกลือ 1 ช้อนชา = 5 กรัม หรือน้ำปลาแท้ ซีอิ๊วขาว ไม่เกิน 2 ช้อนโต๊ะ การไม่ปรุงแต่งอาหารมากจนเกินไป เป็นทางเลือกที่ดีในการลดเค็ม นอกจากนี้การลดการบริโภคอาหารที่ผ่านกระบวนการปรุงแต่ง (processed food) ไม่ว่าจะเป็น อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง ขนมกรุบกรอบ ขนมถุง เป็นต้น ก็สามารถช่วยลดการกินเค็มลงได้เช่นกัน
กลับมาที่ภาษีความเค็ม โดยเนื้อแท้ของภาษีความเค็มนี้ เป็นเพียงมาตรการหนึ่ง ในการลดการบริโภคเค็มในระดับประชากร โดยมุ่งหวังที่จะให้กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีการปรับตัวในการลดการเติมเกลือลงในอาหาร และกระตุ้นภาคประชาชนให้สนใจมาลดการบริโภคเค็ม ไม่ได้มีความตั้งใจจะขูดรีดภาษีประชาชน ประชาชนอาจได้รับผลกระทบได้ กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เลือกเส้นทางที่จะไม่ลดความเค็มและยอมเสียภาษี แล้วมาเพิ่มราคาสินค้าตนเอง ซึ่งถ้าเราในฐานะผู้บริโภคยังคงต้องการสินค้าดังกล่าว ก็ต้องยอมจ่ายเงินมากขึ้นตาม ซึ่งความคาดหวังของผู้คิดการเก็บภาษีนี้ คือ หวังว่าผู้บริโภคจะปรับตัว ไปเลือกสินค้าอื่น ที่มีความเค็มน้อยกว่า ราคาต่ำกว่านั่นเอง
ดังนั้นแล้ว แม้ว่าจะมีภาษีความเค็มหรือไม่ ผมอยากให้ทุกท่านที่เข้ามาอ่านได้ตระหนักถึงภัยเงียบของการรับประทานเค็ม กินวันนี้อร่อยวันนี้ แต่อาจได้ของแถมตามมาในวันหน้าได้ ลองหันมาใส่ใจสุขภาพโดยการลดการรับประทานเค็มกันดู ลองเริ่มต้นง่าย ๆ โดยไม่วางน้ำปลา ซีอิ๊ว หรือซอสต่าง ๆ ไว้บนโต๊ะอาหาร ลดการปรุงแต่งอาหารด้วยเครื่องปรุงต่าง ๆ และดูฉลากอาหารก่อนซื้อว่ามีเกลือหรือโซเดียมปริมาณเท่าไร กี่เปอร์เซ็นต์ของที่แนะนำต่อวัน และเลือกซื้อสินค้าที่มีปริมาณเกลือต่ำ ๆ ลองทำดูกัน อยากให้ทุกท่านมีสุขภาพที่ดีกันครับ
เอกสารอ้างอิง
He FJ, Tan M, Ma Y, MacGregor GA. Salt Reduction to Prevent Hypertension and Cardiovascular Disease: JACC State-of-the-Art Review. J Am Coll Cardiol. 2020 Feb 18;75(6):632-647.
อาหารสุขภาพ
สุขภาพ
บันทึก
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
ไตล้วนๆ ไม่มีวัวผสม
รู้ทันหมอ
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย