29 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
ทำไมเราจึงไม่ควรใช้สารทดแทนความหวาน (Non-sugar sweeteners: Good or Bad?)
เวลาอยากลดน้ำหนักหรือลดความอ้วน สารทดแทนความหวาน (Non-sugar sweeteners) มักถูกกล่าวถึงและถูกนำมาใช้ทดแทนน้ำตาลปกติ สารทดแทนความหวานสามารถให้รสชาติหวาน ลื่นคอและสร้างความเอร็ดอร่อย โดยปราศจากแคลอรี่ ให้ความคิดว่า ฉันกินของหวาน ๆ นี้ได้ โดยไม่อ้วน เพราะมันหวานโดยไร้ซึ่งพลังงาน
ดังนั้นเวลาเลือกซื้อเครื่องดื่มก็จะซื้อโค้กซีโร่ หรือเป๊ปซี่แม็ก มาดื่มแทนรุ่นคลาสสิก ที่เติมน้ำตาลปกติ หรือเวลาปรุงอาหารก็จะใช้สารทดแทนความหวานมาปรุงแทนน้ำตาล
ตัวอย่างชื่อสารทดแทนความหวานที่มีใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ อะซีซัลเฟม เค (Acesulfame K) แอดแวแทม (Advantame) แอสปาแทม (Aspartame) ไซคลาเมต (Cyclamate) นีโอแทม (Neotame) แซคคาริน (Saccharin) สเตวิโอล ไกลโคไซด์ (Steviol glycosides) และซูคราโลส (Sucralose) ถ้ามีโอกาสอยากให้ลองอ่านฉลากอาหารดูว่าเขาเติมสารทดแทนความหวานอะไร ปริมาณเท่าไรให้เรากินบ้าง
แม้ว่าสารทดแทนความหวานจะไม่มีแคลอรีหรือพลังงาน มันอาจส่งผลต่อร่างกายเรา ไม่เหมือนที่เราคิด อยากให้ลองมาอ่านผลงานวิจัยเกี่ยวกับสารทดแทนความหวานกันดู เอาไว้เป็นความรู้เพื่อจะได้เลือก และตัดสินใช้สารทดแทนความหวาน บางทีเมื่อได้อ่านแล้ว อาจเข้าใจว่า ทำไมเราจึงไม่ควรใช้สารทดแทนความหวาน
การศึกษาผลกระทบทางสุขภาพของการใช้สารทดแทนความหวาน (Health effects of the use of non-sugar sweeteners: A systematic review and meta-analysis) โดย Magali Rios-Leyvraz และ Jason Montez เป็นงานวิจัยทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน รวบงานวิจัยตั้งแต่อดีตจนถึงปี พ.ศ. 2564 มีงานวิจัยที่ถูกรวบรวมมาจำนวน 283 งาน แต่ละงานวิจัยมีผู้เข้าร่วมวิจัยตั้งแต่หลักสิบจนไปถึงหลักแสนคน (มีงานวิจัยทั้งเชิงทดลอง และแบบไม่ทดลอง)
ผู้วิจัยได้แบ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลออกเป็นสองแบบตามรูปแบบงานวิจัย กล่าวคือ ผลของงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม (งานวิจัยแบบนี้มีความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจากมีการควบคุมตัวแปรอย่างดี แต่ศึกษาเพียงระยะสั้น) และงานวิจัยแบบไม่ทดลอง (มีความน่าเชื่อน้อยกว่างานวิจัยเชิงทดลอง เนื่องจากอาจมีตัวแปรอื่นกวน ไม่สามารถควบคุมได้เหมือนการทดลอง แต่มีการควบคุมตัวแปรด้วยเครื่องมือทางสถิติ มีการศึกษาติดตามที่ยาวกว่า)
ผลของการรวบรวมงานวิจัยเชิงทดลอง พบว่า สารทดแทนความหวาน (เมื่อเทียบกับน้ำตาลปกติ) สามารถลดน้ำหนักได้ 0.71 กิโลกรัม แต่ไม่พบว่าช่วยลดรอบเอว หรือลดมวลไขมันในร่างกาย ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของสารที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมเมื่อเทียบกับระดับไขมันดี สามารถลดพลังงานที่ได้รับต่อวันได้ 569 กิโลจูล และลดปริมาณการกินน้ำตาลปกติลง 38 กรัมต่อวัน
ส่วนข้อมูลในด้านผลต่อสุขภาพใจด้านการเสียชีวิต การเกิดมะเร็ง หรือผลกระทบต่อการตั้งครรภ์มีนั้นไม่มีข้อมูลเพียงพอ เนื่องจากส่วนใหญ่ศึกษาระยะสั้น และไม่รวมคนท้องอยู่ในการศึกษา
สำหรับผลของการรวบรวมงานวิจัยแบบไม่ทดลองนั้น ผลที่ได้ค่อนข้างน่าสะพรึงเลยทีเดียว ตรงข้ามกับความคิดของเราโดยสิ้นเชิง ผลพบว่าสารทดแทนความหวานเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคอ้วน (1.75 เท่า) โรคเบาหวาน (1.23-1.34 เท่า) โรคหัวใจและหลอดเลือด (1.32 เท่า) โรคหลอดเลือดสมอง (1.19 เท่า) โรคความดันโลหิตสูง (1.13เท่า) และโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (1.31 เท่า โดยเฉพาะสารแซคคาริน; ส่วนมะเร็งอื่น ๆ ไม่พบว่าเพิ่มความเสี่ยง)
นอกจากนี้สารทดแทนความหวานยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (1.12 เท่า) และเพิ่มโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (1.19 เท่า) ในหญิงมีครรภ์ สารทดแทนความหวานเพิ่มความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด (1.25 เท่า)
พออ่านผลงานวิจัยแบบไม่ทดลองนั้น พบว่าการใช้สารทดแทนความหวาน มีแนวโน้มที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพเราได้ แม้ว่าผลจากงานวิจัยเชิงทดลองจะขัดแย้ง แต่งานวิจัยเชิงทดลองนั้น เป็นเพียงการศึกษาติดตามระยะสั้น ๆ ต่างจากการงานวิจัยแบบไม่ทดลองที่ติดตามศึกษาระยะยาวเป็นสิบ ๆ ปี แต่มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถควบคุมปัจจัยบางอย่างที่อาจมีผลต่อสุขภาพ ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนที่ใช้สารทดแทนความหวานนั้น อาจเป็นคนกลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว เช่น เป็นเบาหวาน ซึ่งมีโอกาสที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่แล้ว เป็นต้น
มีคำอธิบายหลายอย่างว่าทำไมสารทดแทนความหวานส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพ สารทดแทนความหวานสามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในร่างกายได้ อาจมีผลต่อการดื้ออินซูลินของร่างกาย เมื่อรับประทานร่วมกับคาร์โบไฮเดรตอื่น ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้
สารทดแทนความหวานยังมีผลต่อตัวรับรสชาติ ส่งผลต่อสมอง ทำให้มีความรู้สึกติดหวานอยากกินหวานมากขึ้น (เหมือนเราได้รับความหวานจากสารทดแทนความหวานไม่พอเหมือนน้ำตาลปกติ จึงไปหาของหวานอื่น ๆ เพิ่มขึ้น จะว่าไปก็คล้าย ๆ ติดสารเสพติดนั่นเอง)
นอกจากนี้ สารทดแทนความหวานอาจไปเปลี่ยนแปลงจุลชีพในทางเดินอาหาร เมื่อเชื้อจุลชีพในทางเดินอาหารเปลี่ยน จึงทำให้การดูดซึมและย่อยน้ำตาลหรือสารอาหารผิดปกติ กระตุ้นการอักเสบ ก่อให้เกิดการดื้ออินซูลินในร่างกายตามมมา เกิดการสร้างไขมันในร่างกายอย่างผิดปกติ และทำให้หลอดเลือดมีปัญหา ซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือดตามมาได้
พอฟังเช่นนี้แล้ว คงพอเข้าใจแล้วนะว่า ทำไมเราจึงไม่ควรใช้สารทดแทนความหวาน แม้ว่าผลการศึกษาที่ได้อาจยังสามารถฟันธงได้ 100% ก็ตาม แต่แนวโน้มที่เห็นจากการศึกษานั้น บ่งว่าสารทดแทนความหวานอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้นการหลีกเลี่ยงสารทดแทนความหวานและหันมากินอาหารให้หวานน้อยลงน่าจะเป็นทางออกที่ดี หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านครับ
อ้างอิง
Concetta Schiano, Vincenzo Grimaldi, Michele Scognamiglio, Dario Costa, Andrea Soricelli, Giovanni Francesco Nicoletti, Claudio Napoli, Soft drinks and sweeteners intake: Possible contribution to the development of metabolic syndrome and cardiovascular diseases. Beneficial or detrimental action of alternative sweeteners?, Food Research International, Volume 142, 2021, 110220, ISSN 0963-9969, https://doi.org/10.1016/j.foodres.2021.110220.
Risdon S, Battault S, Romo-Romo A, Roustit M, Briand L, Meyer G, Almeda-Valdes P, Walther G. Sucralose and Cardiometabolic Health: Current Understanding from Receptors to Clinical Investigations. Adv Nutr. 2021 Jul 30;12(4):1500-1513. doi: 10.1093/advances/nmaa185. PMID: 33578411; PMCID: PMC8321845.
โฆษณา