7 ต.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
เลิกกินน้ำหวาน หันมาดื่มชากันดีกว่า
ทุกวันนี้ เครื่องดื่มประเภทน้ำหวาน ถูกวางขายทั่วไปตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า แผงลอย หรือตามท้องถนน เครื่องดื่มประเภทนี้ มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า การดื่มติดต่อกันในระยะยาวมีอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ว่า จะเสี่ยงเป็นเบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคกระดูกพรุน โรคไตเรื้อรัง และยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมอีกด้วย
ฟังดูน่ากลัวใช่ไหม แม้ได้ยินอันตรายเช่นนี้ เราก็ยังสรรหาเครื่องดื่มประเภทนี้มาดื่มกันอย่างแพร่หลาย อีกทั้งยังไม่ได้ถูกกำกับโดยภาครัฐใด ๆ สามารถขายกันได้อย่างอิสระเสรี
ดังนั้น ถ้าเราอยากสุขภาพดี แต่อยากหาเครื่องดื่มมาดื่มกินเพื่อผ่อนคลายและเติมเต็มชีวิต ในแต่ละวันที่มีแต่เรื่องเครียด ๆ เรามีทางเลือกอะไรอย่างอื่นหรือไม่ ที่ดีต่อสุขภาพ
วันนี้ขอนำเสนอ เครื่องดื่ม “ชาดำ” ลองมาฟังเหตุผลที่มาที่ไปว่า ทำไม ชาดำ ถึงดีต่อสุขภาพ
ชาที่เราดื่มอยู่ทุกวันนี้ มาจากใบชา ในใบชามีปริมาณสารฟลาโวนอยด์และสารอื่น ๆ ที่มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ในทางฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและจีน มีข้อมูลงานวิจัยว่าการดื่มชาเขียวเป็นประจำช่วยลดอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ส่วนชาดำนั้นข้อมูลก่อนหน้านี้ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ บ้างก็ว่าดี บ้างก็เฉย ๆ
ล่าสุดมีการศึกษาวิจัยแบบติดตาม (prospective cohort study) ติดตามคนในสหราชอาณาจักร (อังกฤษ เวลส์ และ สก็อตแลนด์) ดูว่าการดื่ม “ชาดำ” มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือไม่ อย่างไร
มีผู้เข้าร่วมวิจัย ราว 500,000 ราย อายุระหว่าง 40-69 ปี ศึกษาติดตามมาตั้งแต่ ค.ศ. 2006 และติดตามไปโดยเฉลี่ย 11 ปี
ผลวิจัยพบว่า คนที่ดื่มชาดำ อย่างน้อย 2 ถ้วยต่อวัน (1 ถ้วย = 237 ซีซี) สามารถลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง โดยไม่ขึ้นกับว่าจะดื่มกาแฟร่วมด้วยหรือไม่ หรือพันธุกรรมในการเมตาโบลิซึมคาเฟอีนจะเป็นอย่างไร
ดังนั้นแล้ว เมื่อทราบข้อดีของชา ไม่ว่าชาเขียว หรือชาดำ ซึ่งมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระ และมีงานวิจัยทางการแพทย์รองรับเช่นนี้ เลิกกินน้ำหวาน หันมาดื่มชากันดีกว่าครับ
อ้างอิง
Advances Neelakantan N, Park SH, Chen GC, van Dam RM. Sugar-sweetened beverage consumption, weight gain, and risk of type 2 diabetes and cardiovascular diseases in Asia: a systematic review. Nutr Rev. 2021 Dec 8;80(1):50-67
Vartanian LR, Schwartz MB, Brownell KD. Effects of soft drink consumption on nutrition and health: a systematic review and meta-analysis. Am J Public Health. 2007 Apr;97(4):667-75.
Ahn, H., Park, Y.K. Sugar-sweetened beverage consumption and bone health: a systematic review and meta-analysis. Nutr J 20, 41 (2021)
Lo WC, Ou SH, Chou CL, Chen JS, Wu MY, Wu MS. Sugar- and artificially-sweetened beverages and the risks of chronic kidney disease: a systematic review and dose-response meta-analysis. J Nephrol. 2021 Dec;34(6):1791-1804.
de Koning Gans JM, Uiterwaal CS, van der Schouw YT, et al. Tea and coffee consumption and cardiovascular morbidity and mortality. Arterioscler Thromb Vasc Biol. 2010;30:1665-71.
van den Brandt PA. Coffee or tea? A prospective cohort study on the associations of coffee and tea intake with overall and cause-spe-cific mortality in men versus women. Eur J Epidemiol. 2018;33:183-200.
Zhang C, Qin YY, Wei X, et al. Tea consumption and risk of cardio-vascular outcomes and total mortality: a systematic review and meta-analysis of prospective observational studies. Eur J Epidemiol. 2015;30:103-13.
Shin S, Lee JE, Loftfield E, et al. Coffee and tea consumption and mortality from all causes, cardiovascular disease and cancer: a pooled analysis of prospective studies from the Asia Cohort Consortium. Int J Epidemiol. 2022;51:626-640.
Wang ZM, Zhou B, Wang YS, et al. Black and green tea con-sumption and the risk of coronary artery disease: a meta-analysis. Am J Clin Nutr. 2011;93:506-15.
Tang J, Zheng JS, Fang L, et al. Tea consumption and mortality of all cancers, CVD and all causes: a meta-analysis of eighteen prospec-tive cohort studies. Br J Nutr. 2015;114:673-83.
Chung M, Zhao N, Wang D, et al. Dose-response relation between tea consumption and risk of cardiovascular disease and all-cause mortal-ity: a systematic review and meta-analysis of population-based studies. Adv Nutr. 2020;11:790-814
โฆษณา