3 พ.ย. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

กินแมกนีเซียมเสริม ช่วยให้นอนหลับดีขึ้นจริงหรือ

การนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา แต่หลายคนมีปัญหาในการนอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพทุกคืน มีหลายปัจจัยที่สามารถส่งผลกระทบต่อการนอนหลับของเรา เช่น ความเครียด ไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อม และอาหาร ปัจจัยด้านอาหารปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลต่อสุขภาวะการนอนหลับ คือ แมกนีเซียม ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทางชีวภาพหลายอย่าง รวมถึงการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การส่งสัญญาณประสาท และการผลิตพลังงาน
แมกนีเซียมพบในอาหารหลากหลายชนิด เช่น ผักใบเขียว ถั่ว เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่ว และธัญพืช แต่บางคนอาจไม่ได้รับประทานแมกนีเซียมเพียงพอจากอาหารเนื่องจากการเลือกอาหารที่ไม่ดี พืชผักปลูกในดินที่มีแมกนีเซียมในระดับต่ำ หรือความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร การขาดแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหดเกร็ง ตะคริว ความเหนื่อยล้า หงุดหงิด วิตกกังวล และที่สำคัญคือ ภาวะนอนไม่หลับ
แมกนีเซียมมีผลต่อคุณภาพการนอนหลับของเราอย่างไร? และการเสริมแมกนีเซียมสามารถปรับปรุงรูปแบบการนอนหลับของเราได้หรือไม่? เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ทีมนักวิจัยได้ทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับงานวิจัยทางการแพทย์ที่มีอยู่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างแมกนีเซียมและสุขภาพการนอนหลับในผู้ใหญ่ ทีมนักวิจัยรวบรวมงานวิจัยที่ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคแมกนีเซียมและคุณภาพการนอนหลับหลายแง่มุม เช่น ระยะเวลาการนอนหลับ ระยะเวลาในการหลับ การตื่นระหว่างคืน ระยะการนอนหลับ และช่วงการนอนหลับ
จากการรวบรวม นักวิจัยพบการศึกษา 9 ชิ้นที่ตรงกับเกณฑ์ของพวกเขา: การศึกษาเชิงสังเกต (observational studies) 4 ชิ้น และการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (randomized controlled trials; RCT) 5 ชิ้น การศึกษาเหล่านี้มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งหมด 7,582 คน จากประเทศและภูมิหลังที่แตกต่างกัน ทีมนักวิจัยวิเคราะห์ผลการศึกษาแต่ละชิ้นและเปรียบเทียบกัน
ผลการศึกษาในการศึกษาเชิงสังเกต แสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างแมกนีเซียมในร่างกาย/การบริโภคอาหารที่มีแมกนีเซียมเพียงพอกับคุณภาพการนอนหลับ การบริโภคแมกนีเซียมหรือระดับซีรั่มที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนหลับที่ยาวนานขึ้น ระยะเวลาจากตื่นจนหลับสั้นลง (short sleep latency) การตื่นระหว่างคืนน้อยลง และนอนหลับลึกขึ้น
นอกจากนี้ การบริโภคแมกนีเซียมหรือระดับซีรั่มที่ต่ำกว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการหลับในเวลากลางวัน ง่วงนอนตอนกลางวันมากเกินไป การกรน และการนอนไม่หลับในช่วงค่ำคืน
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเชิงทดลองไม่สอดคล้องกัน บางชิ้นรายงานว่าการเสริมแมกนีเซียมช่วยปรับปรุงคุณภาพการนอนหลับในผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ โรคกระสับกระส่ายที่ขา (restless leg syndrome) หรืออาการปวดเรื้อรัง ส่วนงานวิจัยเชิงทดลองชิ้นอื่นๆ รายงานว่าการเสริมแมกนีเซียมไม่มีผลต่อคุณภาพการนอนหลับในผู้ที่มีสุขภาพดีหรือผู้ที่มีอาการซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลางอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
จากงานวิจัยดังกล่าว ทีมนักวิจัยสรุปว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างสถานะแมกนีเซียมกับคุณภาพการนอนหลับตามการศึกษาเชิงสังเกต แต่งานวิจัยเชิงทดลองแสดงให้เห็นว่ามีความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอนระหว่างการเสริมแมกนีเซียมกับความผิดปกติของการนอนหลับ พวกเขาแนะนำว่าจำเป็นต้องมีงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่ออกแบบมาอย่างดีด้วยขนาดตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้นและระยะเวลาติดตามผลที่ยาวนานขึ้นเพื่อไขความจริงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างแมกนีเซียมและการนอนหลับ
ดังนั้นคำถามที่ว่า กินแมกนีเซียมเสริม ช่วยให้นอนหลับดีขึ้นจริงหรือ ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าจะช่วยได้หรือไม่ ใครที่มีปัญหาด้านการนอนหลับและตัดสินใจว่าจะกินแมกนีเซียมเสริมดู แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อน ควรตรวจดูว่ามีปัญหาแมกนีเซียมในเลือดต่ำหรือไม่ ถ้ามีควรแก้ไข และควรตรวจดูว่ามีข้อห้ามในการกินแมกนีเซียม เช่น โรคไตเรื้อรัง ถ้าไม่มีข้อห้าม อาจพิจารณารับประทานอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงดูหรือไม่ก็ทานแมกนีเซียมแบบเม็ดเสริม
และติดตามผลลัพธ์ว่านอนหลับดีขึ่นหรือไม่ ถ้าไม่ได้ผลควรหยุดทาน นอกจากนี้ควรติดตามผลงานวิจัยเกี่ยวกับการรับประทานแมกนีเซียมเสริมและการนอนหลับที่น่าจะทำออกมาเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อตอบคำถามดังกล่าวครับ
อ้างอิง
Arab A., et al. The Role of Magnesium in Sleep Health: a Systematic Review of Available Literature. Biol Trace Elem Res. 2023 Jan;199(1):1-16.
โฆษณา