6 ต.ค. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

คาร์โบไฮเดรตกับการลดน้ำหนัก: ความสำคัญของคุณภาพและแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรต

ในยุคสมัยที่การลดน้ำหนักเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจและถูกกล่าวถึง การดูแลจัดการเรื่องอาหารเป็นสิ่งที่มีความสำคัญโดยเฉพาะการรับประทานคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ แป้ง น้ำตาล งานวิจัยแบบติดตามผู้เข้าร่วมเป็นเวลาเกือบ 30 ปีได้เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างการบริโภคคาร์โบไฮเดรต คุณภาพ แหล่งที่มาและการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก การศึกษานี่แสดงให้เห็นหลักฐานอย่างชัดเจนว่าประเภทและแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตที่เรารับประทานมีบทบาทสำคัญในการจัดการน้ำหนักของเรา
การศึกษาวิจัยนี้ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม 136,432 คน อายุ 65 ปีหรือน้อยกว่า ไม่มีภาวะที่เรื้อรังต่างๆ ในตอนเริ่มการศึกษา ในช่วงเวลา 24 ปี ผู้เข้าร่วมเหล่านี้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 1.5 กิโลกรัมทุก ๆ สี่ปี ซึ่งสะสมเป็นน้ำหนักเฉลี่ย 8.8 กิโลกรัมตลอดระยะเวลาการศึกษา
หนึ่งในการค้นพบที่สำคัญคือ ความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพของคาร์โบไฮเดรตและการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก ผู้เข้าร่วมกินอาหารที่มีดัชนีน้ำตาล (glycemic index) และปริมาณน้ำตาล (glycemic load)สูฃจะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การรับประทานแป้งหรือน้ำตาลเพิ่มขึ้นเพียง 100 กรัมต่อวัน ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1.5 กิโลกรัม และ 0.9 กิโลกรัม ตามลำดับ ในช่วงเวลาสี่ปี ในทางกลับกัน การรับประทานไฟเบอร์ (เส้นใยจากพืช) เพิ่มขึ้น 10 กรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลง 0.8 กิโลกรัม
ที่มาของคาร์โบไฮเดรตก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน การรับประทานคาร์โบไฮเดรตจากธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ และผักที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบน้อย มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักที่ลดลง สำหรับทุกๆ 100 กรัมต่อวันของแหล่งอาหารเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมมีน้ำหนักลดลงตั้งแต่ 0.4 กิโลกรัมไปจนถึง 3.0 กิโลกรัม ในทางกลับกัน การรับประทานธัญพืชขัดสีและผักที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก (เช่น ถั่ว แครอท และมันฝรั่ง) มากขึ้น ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากขึ้น โดยเพิ่มขึ้น 0.8 กิโลกรัม และ 2.6 กิโลกรัม ตามลำดับ ต่อ 100 กรัมต่อวัน
งานวิจัยที่ครอบคลุมครั้งนี้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของคุณภาพและแหล่งที่มาของคาร์โบไฮเดรตในการจัดการน้ำหนักในระยะยาว สำหรับผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัวที่มากเกินไป ควรจำกัดปริมาณน้ำตาล เครื่องดื่มรสหวาน ธัญพืชขัดสี และผักที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลัก หันมากินธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ และพืชผักมีแป้งเป็นองค์ประกอบน้อย ๆ
อ้างอิง
Wan Y, Tobias D K, Dennis K K, Guasch-Ferré M, Sun Q, Rimm E B et al. Association between changes in carbohydrate intake and long term weight changes: prospective cohort study BMJ 2023; 382 :e073939 doi:10.1136/bmj-2022-073939
โฆษณา